หนอนกออ้อย เป็นแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญซึ่งทำความเสียหายต่อการผลิตอ้อยเป็นอย่างมาก พบในแหล่งปลูกอ้อยทั่วประเทศ หนอนกออ้อยที่พบในขณะนี้ มี 5 ชนิด
คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายใหญ่ หนอนกอสีชมพู และหนอนกอสีขาว ซึ่งหนอนกอแต่ละชนิด มีลักษณะดังนี้
หนอนกอลายจุดเล็ก
ระยะไข่ เป็นกลุ่มสีขาวครีมเรียงซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลา อยู่ใต้ใบและบนใบอ้อย ระยะไข่ 3-6 วัน
ระยะหนอน ลำตัวมีจุดเล็กๆ สีน้ำตาล 2 คู่ ลอกคราบ 5 ครั้งจึงเข้าดักแด้ ระยะหนอน 30 - 35 วัน
ระยะดักแด้ ระยะดักแด้ 5 - 8 วัน
ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวสีน้ำตาลฟางข้าว อายุ 7 - 12 วัน
ลักษณะการทำลายอ้อย
1. เข้าทำลายอ้อยในระยะแตกกอ โดยเฉพาะระยะอ้อย 1 1/2 - 4 เดือน หรือเมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้ง
2. ตัวหนอนจะทำลายที่โคนหน่ออ้อย ลักษณะของรอยทำลายที่เห็นชัดเจนคือ พบรูทำลายขนาดเล็กหลายรู บนหน่ออ้อย

หนอนกอลายจุดเล็ก

หนอนกอลายจุดใหญ่
ระยะไข่ สีขาวครีม เรียงซ้อนกันคล้ายเกร็ดปลา วางใต้และบนใบอ้อย ระยะไข่ 3 - 6 วัน
ระยะหนอน มีจุดขนาดใหญ่สีน้ำตาล(ใหญ่กว่าหนอนกอลายจุดเล็ก)ด้านบนลำตัวปล้องละ 2 คู่ ระยะหนอน 30 - 35 วัน
ระยะดักแด้ ระยะดักแด้ 7-12 วัน
ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลเข้มที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหนอนชนิดอื่น กลางปีกคู่หน้ามีแถบสีน้ำตาล 1 เส้น
ปลายปีกมีจุดสีน้ำตาลดำเรียงเป็นแถวที่ขอบปีก อายุตัวเต็มวัย 5 - 10 วัน
ลักษณะการทำลายอ้อย
1. เข้าทำลายในระยะอ้อยเริ่มย่างปล้องและระยะอ้อยเป็นลำ
2. ตัวหนอนที่ฟักแล้วจะเจาะรูเข้าในลำอ้อยเป็นจำนวนมาก แล้วจะกัดกินเนื้ออ้อยภายใน ทำให้อ้อยได้รับความเสียหายอย่างมาก
เพราะตัวหนอนสามารถกินอ้อยจนหมดทั้งลำ ถ้าฝนตกมาก ความชื้นสูง จะทำให้ระบาดได้ดี

หนอนกอลายจุดใหญ่

 

หนอนกอลายใหญ่/แถบลาย
ระยะไข่ เป็นกลุ่ม สีขาวครีม เรียงซ้อนกันคล้ายเกร็ดปลา ระยะไข่ 3 - 6 วัน
ระยะหนอน มีแถบสีน้ำตาลพาดตามความยาวของลำตัว ระยะหนอน 30 - 40 วัน
ระยะดักแด้ ระยะดักแด้ 9 -15 วัน
ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีน้ำตาล มีขีดสีน้ำตาลดำในแนวนอนบริเวณปลายปีก อายุ 9 -15 วัน
ลักษณะการทำลายอ้อย
1. เข้าทำลายในระยะอ้อยแตกกอ อ้อยเริ่มย่างปล้อง และอ้อยเป็นลำ
2. ระยะอ้อยแตกกอ : ตัวหนอนจะเข้าทำลายที่โคนหน่ออ้อย
ระยะอ้อยย่างปล้องและอ้อยเป็นลำ : ตัวหนอนจะเจาะเข้าทำลายในลำอ้อย

 

หนอนกอลายใหญ่/แถบลาย


หนอนกอสีชมพู
ระยะไข่ เป็นเม็ดกลมสีชมพูวางเป็นกลุ่มในซอกกาบใบที่แนบกับยอดหรือใกล้ยอด ระยะไข่ 6-7 วัน
ระยะหนอน ลำตัวสีชมพู ลอกคราบ 9 ครั้ง ระยะหนอน 30 -50 วัน
ระยะดักแด้ ระยะดักแด้ 10 - 12 วัน
ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน ลำตัวอ้วนสั้น ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อน มีอายุประมาณ 10 วัน ตัวเมียวางไข่ได้ 200 - 300 ฟอง/ตัว
ลักษณะการทำลายอ้อย
1. เข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยแตกกอและระยะย่างปล้อง
2. หนอนเข้าทำลายในบริเวณโคนยอดอ้อยที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตาย ลักษณะของรอยทำลายที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจนคือ มีรูทำลาย 1 - 2 รู
และรูทำลาย จะเปียกแฉะ

 

หนอนกอสีชมพ

 

หนอนกอสีขาว
ระยะไข่ เป็นกลุ่ม มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ระยะไข่ 4 - 6 วัน
ระยะหนอน ลำตัวหนอนสีขาวซีด ระยะหนอน 35 - 40 วัน
ระยะดักแด้ ดักแด้สีขาวปนน้ำตาล ระยะดักแด้ 8 -10 วัน
ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีขาว อายุ 5 -10 วัน
ลักษณะการทำลายอ้อย
1. เข้าทำลายในระยะอ้อยแตกกอและอ้อยเริ่มย่างปล้อง
2. ตัวหนอนจะเจาะเข้าเส้นกลางใบอ้อยที่เพิ่งคลี่ใบ ทำลายใบยอดที่กำลังเจริญเติบโต แล้วจะเจาะเข้าในลำอ้อย พบรอยทำลายใบยอดมีรูพรุน

 

หนอนกอสีขาว

 

เอกสารอ้างอิง
นุชรีย์ ศิริ .2546. เทคนิคการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติและการควบคุมหนอนกออ้อยโดยชีววิธี. เอกสารประกอบการฝึกอบรม
ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 61 หน้า.