==============================================================
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diachasmimorpha longicaudata
อันดับ (Order) : Hymenoptera
วงศ์ (Family) :
Braconidae
แตนเบียนแมลงวันผลไม้
เป็นแมลงเบียนในระยะหนอนของแมลงวันผลไม้ โดยตัวหนอนจะอาศัยและกัดกินอยู่ภายในลำตัวของหนอนแมลงวันผลไม้ จัดเป็นแตนเบียนภายใน ซึ่งหนอนแมลงวันผลไม้ 1 ตัว มีแตนเบียนฟักออกมาเพียง 1 ตัว ในสภาพธรรมชาติพบว่าแตนเบียน D. longicaudata มีเปอร์เซ็นต์การเบียนหนอนแมลงวันผลไม้ โดยเฉลี่ย อยู่ระหว่าง 0.44 - 29.23% แต่ในสวนผลไม้บางแห่งพบการเข้าทำลายหนอนแมลงวันผลไม้ สูงถึง 90% ในฮาวายมีการนำเข้าแตนเบียน D. longicaudata จากเอเชียเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ตั้งแต่ปี 1984

ประโยชน์

แตนเบียนชนิดนี้สามารถเข้าทำลายแมลงวันผลไม้ได้หลายชนิด เช่น
1. Bactrocera dorsalis , B. correcta ที่ทำลายมะม่วง พุทรา ชมพู่ กระท้อน ฝรั่ง ฯลฯ
2. B. latifrons ที่ทำลายพริก

=============================================================

วงจรชีวิต

การเจริญเติบโตของแตนเบียนมี 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย โดยระยะไข่ถึงระยะดักแด้ เจริญเติบโต ภายในลำตัวของหนอนแมลงวันผลไม้ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างและระยะเวลาการเจริญเติบโตดังนี้

ไข่ - มีสีใส ยาวรี มีระยะเวลา 1-2 วันก็จะฟักออกเป็นตัวหนอนเจริญเติบโตภายในตัวหนอนแมลงวัน และออกเป็นตัวเต็มวัยจากดักแด้ของแมลงวันผลไม้

ตัวหนอน - มี 3 วัย ตัวหนอนวัยที่ 1 ลักษณะภายในลำตัวสีขาวขุ่น ภายนอกสีใส ส่วนหัวกว้างกว่าส่วนท้ายของลำตัว
มีอายุเฉลี่ย 2 วัน ตัวหนอนวัยที่ 2 มีลำตัวสีเหลืองทึบ ส่วนกลางจะกว้างกว่าส่วนหัวและส่วนท้ายของลำตัว
มีอายุเฉลี่ย 4.50 วัน ตัวหนอนวัยที่ 3 ลักษณะลำตัวคล้ายหนอนวัยที่ 2 แต่สีอ่อนกว่า มีอายุเฉลี่ย 7.75 วัน ระยะตัวหนอนของแตนเบียนชนิดนี้กัดกินเนื้อเยื่อภายในของดักแด้แมลงวันผลไม้ทั้งหมด จนกระทั่งเหลือเพียง
เปลือกดักแด้ ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นตัวอ่อนหรือดักแด้ของแตนเบียนอยู่ที่ปลายข้างใดข้างหนึ่งของปลอกดักแด้ แมลงวันผลไม้ด้วยตาเปล่า

ดักแด้ - มีสีของลำตัว ขา และหนวดสีขาวขุ่น ส่วนท้องมีจุดสีขาว ๆ ทั่วไป ปีกมีสีดำ ตาโตสีดำเห็นชัดเจน
และมีลำตัวอ้วนป้อม มีส่วนขาและหนวดมองเห็นชัดเจน อวัยวะวางไข่ซ่อนอยู่ภายใต้ลำตัว การเข้าดักแด้จะเข้าภายในดักแด้ของหนอนแมลงวันผลไม้เป็นดักแด้ที่ไม่มีใยไหมห่อหุ้ม

ตัวเต็มวัย - ลำตัวสีแดงอ่อน ๆ ถึงสีน้ำตาล หนวดมีความยาวมากกว่าลำตัว เพศเมียมีความยาวของลำตัวไม่รวม
อวัยวะวางไข่ 3.6-5.4 มม. เพศผู้ ลำตัวยาว 2.8-4.0 มม. ส่วนปลายของอวัยวะวางไข่เพศเมียมีสีดำ และมีความยาวมากกว่าลำตัว ตัวเต็มวัยเพศผู้ อายุ 7.50 วัน เพศเมีย 7.67 วัน โดยตัวเต็มวัยของแตนเบียน
D. longicaudata ฟักเป็นตัวเต็มวัยประมาณวันที่ 16 หลังการถูกเบียน

ลักษณะการทำลาย

เพศเมียจะวางไข่โดยการใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปบนตัวหนอนแมลงวันผลไม้ที่อาศัยภายในผลไม้
แตนเบียน D. longicaudata เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 13-24 ฟอง/วัน และสามารถ
ผลิตลูกได้ 34.0 ตัว

อัตราการปล่อย

ใช้อัตราการปล่อยแมลงเบียน จำนวน 1,600 ตัว/ไร่ โดยปล่อยต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนและอนุรักษ์ แมลงเบียนให้อยู่ในธรรมชาติ

==============================================================


วิธีการปล่อย

1. บรรจุดักแด้ที่แยกเอาแมลงวันผลไม้ เปลือกดักแด้ และดักแด้ที่ไม่ฟักออก
โดยการเป่า (Blown pupae)
ส่วนที่เหลือจะเป็นดักแมลงเบียน จำนวน 110 กรัม (จะได้แตนเบียนประมาณ 12,000 ตัว) ลงในถ้วยใส่ดักแด้ ปิดฝาให้สนิท
2. ขนส่งดักแด้โดยใช้รถปรับอากาศเพื่อลดการสูญเสียของดักแด้ แตนเบียน
3. แจกจ่ายดักแด้ที่บรรจุในถ้วยใส่ดักแด้ให้กับเกษตรกร
4. นำถ้วยที่ใส่ดักแด้ 1 ถ้วย ใส่ลงในกรงปล่อยแตนเบียน 1 กรง พร้อมถ้วยใส่น้ำ ปิดกรง
5. นำกรงปล่อยแมลงไปแขวนในสวนผลไม้ โดยเป็นที่ที่มีหลังคากันแดดได้
6. ป้ายน้ำผึ้งด้านข้างของกรงด้านใดด้านหนึ่ง จำนวน 3-4 ทาง จากด้านบนลงด้านล่าง
7. ทาจาระบีบริเวณที่แขวนกันมด
8. ปล่อยให้แตนเบียนฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 4-5 วัน
9. นำกรงปล่อยแตนเบียนไปแขวนที่กิ่งของต้นผลไม้ 1 กรง ใช้กับพื้นที่ประมาณ
5 - 10 ไร่
10. เปิดกรงออก เพื่อปล่อยแตนเบียน การปล่อยแตนเบียน ควรทำในช่วงเวลาเช้า

ข้อแนะนำ

1. การปล่อยจะต้องปล่อยภายหลังแตนเบียนฟักออกเป็นตัวเต็มวัยแล้ว 4-5 วัน
2. ต้องป้องกันมดมากัดกินดักแด้โดยใช้จาระบีทาบริเวณที่แขวน

==============================================================