======================================================

ชื่อสามัญ : lady beetles , ladybird
อันดับ (Order) : Coleoptera
วงศ์ (Family) : Coccinellidae

ด้วงเต่าที่เป็นแมลงห้ำ มีหลายชนิด ที่พบมากตามแปลงปลูกพืชทั่วไป ได้แก่

ด้วงเต่าลายหยัก
Menochilus sexmaculatus Fabricius
ด้วงเต่าลายสมอ Coccinella transversalis Fabricius
ด้วงเต่าสีส้ม Micraspis discolor Fabricius
ด้วงเต่าลายจุด Harmonia octomaculata Fabricius

======================================================

ประโยชน์ :

ด้วงเต่าเป็นแมลงห้ำทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย สามารถควบคุมศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่ฟ้า เพลี้ยหอย ไรกินพืช รวมทั้งไข่ของแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด

ลักษณะการเจริญเติบโต :

ด้วงเต่าตัวห้ำ (ข้อมูล ด้วงเต่าลายหยัก Menochilus sexmaculatus Fabricius ) มีการเจริญเติบโต 4 ระยะ ได้แก่

ระยะไข่ - วางเป็นกลุ่มเรียงกันเป็นระเบียบ สีเหลืองอ่อน ไข่แต่ละฟองมีรูปทรงรี คล้ายลูกรักบี้ เมื่อใกล้ฟักจะมีสีเทาปนดำ อายุไข่ ประมาณ 2 วัน

ระยะตัวอ่อน - ตัวอ่อนมีรูปทรงคล้ายลูกจระเข้ ลำตัวแบนหัวท้ายเรียว มีขา 3 คู่ บริเวณด้านหลังและด้านข้างลำตัว มีปุ่มหนามอ่อนๆ ยื่นออกมา มีจุดหรือแถบสีดำอยู่ตามบริเวณผนังด้านหลังลำตัว ตัวอ่อนมี 4 วัย อายุรวมประมาณ 7 - 9 วัน

 

ระยะดักแด้ - เมื่อตัวอ่อนวัยที่ 4 ลอกคราบเข้าระยะดักแด้ คราบจะถูกดันไปอยู่ส่วนปลายสุดของลำตัวดักแด้ และยึดติดอยู่กับผิวของพืช มีสีเหลืองอมส้ม อายุประมาณ 2 วัน

ระยะตัวเต็มวัย - มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่ ส่วนหลังลำตัวโค้งนูน เป็นมันเรียบ สีส้ม ปีกคู่แรกมี ลายหยักเป็นคลื่น ส่วนปลายปีกมีแต้มวงกลมสีดำ ข้างละ 1 จุด ขอบด้านล่างของปีกมีแถบสีดำยาวตลอด
ขอบของปีก อายุของตัวเต็มวัย ประมาณ 1 เดือน


การนำไปใช้ประโยชน์ :

1. กรณีสำรวจพบศัตรูพืช มีปริมาณน้อย (1-2 ตัวต่อจุดสำรวจ) ปล่อยด้วงเต่า อัตรา 100 ตัว/ไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ส่วนในไม้ผลให้ปล่อย 100 ตัว/ต้น
2. กรณีสำรวจพบศัตรูพืชในปริมาณสูง ปล่อยด้วงเต่า อัตรา 2,000 ตัว/ไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ส่วนในไม้ผล ให้ปล่อย 2,000 ตัว/ต้น

==========================================================

เอกสารประกอบการเรียบเรียง :
พิมลพร นันทะ.2545.ศัตรูธรรมชาติหัวใจของ IPM . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.2547. เทคนิคการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติและการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี. เอกสารประกอบการฝึกอบรม 22-23 มีนาคม 2547. ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.(อัดสำเนาเย็บเล่ม)