แตนเบียนไตรโคแกรมมา
  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogramma spp.
ชื่อสามัญ : Trichogramma Wasp
วงศ์ (Family) : Trichogrammatidae
อันดับ (Order) : Hymenoptera
 
 

แตนเบียนไตรโคแกรมมา เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีความสำคัญ มีคุณสมบัติในการเบียนและทำลายไข่ของผีเสื้อหนอนกออ้อยและไข่ของผีเสื้อหนอนศัตรูพืชอีกหลายชนิด ได้แก่ ไข่ผีเสื้อหนอนกอข้าว, ไข่ผีเสื้อหนอนม้วนใบข้าว, ไข่ผีเสื้อหนอนเจาะสมอฝ้ายและไข่ผีเสื้ออีกหลายชนิด 

   
  รูปร่างและลักษณะการเจริญเติบโต
  แตนเบียนไตรโคแกรมมา เป็น egg-parasitoid เข้าทำลายระยะไข่ของแมลงอาศัย (host) โดยแตนเบียนจะวางไข่ ลงในไข่ของแมลงอาศัย จากนั้น ไข่ของแตนเบียนจะฟักและเจริญเติบโต อยู่ในไข่ของ host จนกระทั่งออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีลักษณะดังนี้
 

ไข่ - สีขาวใส เมื่อใกล้ฟักจะเป็นสีเหลืองและแต้มสีขาว อายุ 1-2 วัน
ตัวอ่อน - มี 3 ระยะ ตัวหนอนมีส่วนปากคล้ายตะขอ 2 อัน โค้งชี้เข้าหากัน ใช้สำหรับเจาะดูดกินของเหลวภายในไข่ อายุ 3 - 7 วัน หลังจากนั้นจะพักตัว 1 วัน ก่อนจะเข้าดักแด้
ดักแด้ - ดักแด้มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยแต่ไม่มีส่วนปีกและอวัยวะเพศ ส่วนหนวดและขาซ่อนอยู่ภายใต้ลำตัว ตามีสีแดงเห็นชัดเจน อายุ 2 วัน
ตัวเต็มวัย - ตัวมีขนาดเล็ก ( 0.3 - 0.4 มิลลิเมตร ) สีน้ำตาลเหลือง ตาสีแดง มีปีกแบบ membrane หนวดรูปกระบอง เพศผู้ ส่วนปลายหนวดมีเส้นขนยาวและมีปริมาณมากกว่าเพศเมีย
เพศเมีย มีอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ยื่นยาว

 
  ลักษณะการทำลาย
 

ทำลายแมลงศัตรูพืชในระยะที่เป็นไข่ โดยตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะวางไข่ลงในไข่ของหนอนผีเสื้อศัตรูพืช เมื่อไข่แตนเบียนฟักเป็นตัวหนอนจะเจริญเติบโตอยู่ภายใน จนกระทั่งเข้าดักแด้และฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะเข้าทำลายไข่ผีเสื้อศัตรูพืชต่อไป

 
   
  การนำไปใช้ควบคุมศัตรูพืช
  นำแผ่นแตนเบียนไตรโคแกรมมาในระยะดักแด้ (สีดำ) นำไปเย็บติดกับใบพืช เช่น อ้อย ข้าวโพด โดยใช้ 10 แผ่น / ไร่
(หรือ 20,000 ตัว/ ไร่ / ครั้ง) ควรใช้ต่อเนื่อง 5 ครั้ง ห่างกันทุก 15 วัน
 
  ข้อแนะนำ
 

1. การนำแผ่นแตนเบียนไปติดในแปลงพืช ควรทำในเวลาเย็น
2. ควรมีการป้องกันมดมากินไข่ โดยอาจทาจาระบีที่โคนใบ
3. ถ้าเป็นฤดูฝน ควรครอบถุงพลาสติกกันฝนด้วย

  เอกสารประกอบการเรียบเรียง
  นุชรีย์ ศิริ,ทัศนีย์ แจ่มจรรยา.2546.เทคนิคการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติและการควบคุมหนอนกออ้อยโดยชีววิธี. เอกสารประกอบการฝึกอบรม ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 61 หน้า.