แมลงช้างปีกใส Plesiochrysa ramburi

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plesiochrysa ramburi (Schneider)
ชื่อสามัญ : Green Lacewings
อันดับ (Order) : Neuroptera
วงศ์ (Family) : Chrysopidae

 

บทบาทและความสำคัญ
แมลงช้างปีกใส Plesiochrysa ramburi (Schneider) เป็นแมลงที่มีประโยชน์ ช่วยกำจัดศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และไรแดง นอกจากนี้ตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใสยังสามารถกินไข่ของผีเสื้อและด้วงปีกแข็งเป็นอาหารได้อีกด้วย ตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใสจะเข้าทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่มีเขี้ยวยาวกัดกินแมลงศัตรูพืชที่มีขนาดเล็ก และผนังลำตัวที่อ่อนนุ่ม ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานและน้ำเป็นอาหาร

  รูปร่างและลักษณะการเจริญเติบโต
   
  ไข่ – ตัวเต็มวัยเพศเมียมักวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ก้านชูไข่สีขาวใส ไข่มีลักษณะยาวรีสีเขียวอ่อน เมื่อใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีอายุ 3-4 วัน

 
  ตัวอ่อน – ตัวอ่อนมี 3 วัย เป็นตัวห้ำตั้งแต่วัยที่ 1 โดยมีกรามยาวโค้งยื่นออกไปทางด้านหน้าเพื่อทำลายเหยื่อ ลำตัวของระยะตัวอ่อนมีผงแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ซึ่งจะพรางตัวคล้ายกับเพลี้ยแป้งซึ่งเป็นเหยื่อ ตัวอ่อนมีอายุ 9-11 วัน
 
  ดักแด้ – ตัวอ่อนวัยสุดท้ายจะสร้างเส้นใยสีขาวปกคลุมลำตัว และเข้าดักแด้อยู่ภายใน มักเข้าดักแด้ติดกับใบและกิ่งของพืช หรือภาชนะที่ใช้เลี้ยง มีขนาดประมาณ 5 มม. ดักแด้มีอายุ 10-11 วัน
 
  ตัวเต็มวัย – ลำตัวสีเขียวอ่อน มีตารวมสีแดง ปีกบางใส ส่วนท้องของเพศเมียมีลักษณะกลมมน ปลายท้องแหลม ในเพศผู้มีลักษณะเพรียว ปลายท้องตัดตรง เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ ขนาดลำตัวของตัวเต็มวัยเพศเมียกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 9.5 มิลลิเมตร เพศผู้มีความกว้าง 1 มิลลิเมตร ความยาว 7 มิลลิเมตร หลังจับคู่ผสมพันธุ์ 2-3 วัน จึงเริ่มวางไข่ ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้วันละประมาณ 14 ฟอง ตลอดช่วงอายุสามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 130.25 ฟอง ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีอายุเฉลี่ย 16.85 วัน และเพศผู้มีอายุเฉลี่ย 13.55 วัน
 
   
วิธีการนำไปใช้ควบคุมศัตรูพืช

สามารถปล่อยได้ทุกระยะของแมลงช้างปีกใส (ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ ตัวเต็มวัย) โดยมีวิธีการและอัตราการปล่อยดังนี้

1. สำรวจแปลง เพื่อประเมินการระบาดของเพลี้ยแป้งก่อน
> พบเพลี้ยแป้ง 1-2 จุด ปล่อยแมลงช้างปีกใส 100 ตัว/ไร่
> พบเพลี้ยแป้ง 3 จุด ขึ้นไป ปล่อยแมลงช้างปีกใส 200 - 500 ตัว/ไร่
2. ปล่อยแมลงช้างปีกใสเป็นจุดๆ ให้มีการกระจายคลุมทั่วบริเวณที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง
3. งดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงในแปลงที่ปล่อยแมลงช้างปีกใส
4. ปล่อยแมลงช้างปีกใส ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดอ่อนๆ